Blog
การเปิดร้านอาหารในฝรั่งเศส
- 20 mars 2023
- Publié par : Admindhappystory
ทักทายทุกท่านอีกครั้ง ในหัวข้อนี้เราจะมาพูดถึง ‘การเปิดร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศส’ โดยจะกล่าวถึงขั้นแรกสุดที่หลายคนมักมองข้ามอย่างการ ‘วางแผนในหัวหรือว่าการจินตนาการ’ ต่อด้วยประเภทร้านอาหารในฝรั่งเศส และวิธีวางแผนก่อนเปิดร้านอย่างแยบยล
ก่อนที่จะเริ่มต้น อย่างแรกที่ต้องทำคือ ‘จินตนาการ’
ใช่ครับ การจินตนาการนี่แหละจะทำให้ท่านมองภาพรวมของการเปิดร้านอาหารได้ อย่าเพิ่งมองว่าการจินตนาการเป็นเรื่องนามธรรม ไร้สาระ เพราะหลาย ๆ สิ่งในโลกเราก็เกิดขึ้นได้จากจินตนาการทั้งสิ้น โดยท่านจะต้องมี ‘ภาพ’ เหล่านี้ในหัว เช่น
- สถานที่ตั้งของร้าน
- ผลประกอบการ
- กลุ่มลูกค้า
- สัญญาเช่า
- คู่แข่งในละแวกใกล้เคียง
- ขนาดของร้าน
เป็นต้น
เมื่อได้คำตอบในใจแล้วก็ลองจดใส่กระดาษว่าท่านจะวางแผนธุรกิจร้านอาหารไว้อย่างไรบ้าง บางทีไอเดียดี ๆ อาจมาตอนกำลังล้างจาน กินข้าว หรือตอนเดินเล่นอยู่ก็ได้
หากท่านสามารถตอบตัวเองได้ในเบื้องต้นแล้วว่า จะเปิดร้านอาหารอะไร มีเมนูอะไรขายบ้าง ทำไมถึงเปิด จะบริหารร้านได้อย่างไร จ้างใครมาบ้าง ได้แล้ว ก็มาทราบข้อมูลเบื้องต้นของ ‘ประเภทร้านอาหารในฝรั่งเศส’ กันเลย
ประเภทร้านอาหารในฝรั่งเศส
คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีภาพจำว่า การเปิดร้านอาหารคือต้องมีหน้าร้าน มีโต๊ะ มีเจ้าของร้าน พนักงานเสิร์ฟ และพ่อครัวแม่ครัว แต่อันที่จริงแล้ว มันไม่ใช่แค่นั้นสิครับ ประเทศฝรั่งเศสแบ่งประเภทของร้านอาหารไว้มากมาย ซึ่งเราขอสรุปให้ดังนี้
- ร้านอาหารปกติทั่วไปเต็มรูปแบบ หมายความว่าเป็นร้านที่มีแม่ครัว มีพนักงานเสริฟ พนักงานคิดเงิน มีโต๊ะให้แขกนั่ง มีบริการเสริฟ มีเมนูอาหาร
เปิดร้านอาหารขนาดเล็ก หมายความว่าเป็นร้านอาหารที่มีขนาดเล็กลงมา อาจจะมีโต๊ะให้ลูกค้านั่งทานแบบบริการตัวเอง ไม่มีบริการเสริฟ ลูกค้าทานเสร็จแล้วก็ลุกเก็บเอง - ร้านขายอาหารพร้อมเปิดโชห่วยไปด้วย คือภายในร้านเดียวกันแต่แบ่งเป็นส่วนขายอาหาร กับส่วนขายสินค้า
- ร้านขายตามตลาด หาที่ขายในตลาดแล้วขออนุญาตตั้งโต๊ะขายเมนูง่ายๆ
- เปิดขายบนรถ (Food truck) ร้านอาหารประเภทใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม เพราะสามารถย้ายร้านไปได้เรื่อยๆ ขายได้เร็ว เน้นปริมาณ
- ทำอาหารขายที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทำร้านอาหารขายส่งคนไทยด้วยกัน หรือทำอาหารแล้วไปฝากขายตามร้านอาหารต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายที่บ้าน
- ไปทำอาหารที่บ้านลูกค้า นอกจากจะรอให้ลูกค้าเป็นฝ่ายเดินมาหาเรา ทำไมเราไม่เป็นฝ่ายเดินไปหาลูกค้าบ้างล่ะ มีคนไทยหลายคนที่นิยมไปทำอาหารไทยตามบ้านลูกค้าฝรั่งเศส หาคุณพูดภาษาฝรั่งเศสพอได้ เงินทุนน้อย ชอบเดินทาง ทางเลือกนี้ก็อาจจะเหมาะกับตัวคุณนะ
- ทำอาหารจัดเลี้ยง ธุรกิจการทำร้านอาหารนั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เปิดร้านอาหารเท่านั้น ทุกวันนี้ตามงานเลี้ยงต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยงงานแต่งงาน งานเลี้ยงวันเกิด งานเลี้ยงวันครบรอบแต่งงาน ก็จะมีการจัดปาร์ตี้เล็กๆ พร้อมเชิญเชฟมาทำอาหาร ซึ่งอาหารไทยก็เป็นหนึ่งในประเภทอาหารเป็นเป็นที่นิยมในฝรั่งเศส แถมยังหาคนรับทำได้ยากด้วยนะ
- 56.10A – Restauration traditionnelle (ร้านอาหารแบบปกติ)
ร้านอาหารประเภทนี้คือร้านอาหารที่อยู่ในภาพจำของคนไทยทั่วไป คือจะเป็นร้านอาหารที่มีพนักงานเสิร์ฟ พ่อครัว/แม่ครัว มีโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทาน และมีบริการโต๊ะแบบที่พนักงานจะนำอาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะเรา (service à table) - 56.10B – Cafétérias et autres libres-services (โรงอาหารและร้านอาหารแบบบริการตัวเอง)
– Cafétérias คือประเภทของร้านอาหารที่ไม่มีการบริการที่โต๊ะ (service à table) (หรือมีแต่น้อยมาก) <cafététiaให้เห็นภาพง่าย ๆสำหรับคนไทยคือมันคล้าย ๆ โรงอาหารหรืออีกชื่อที่คนไทยเข้าใจคือฟู้ดคอร์ท> นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สามารถมานั่งดื่มกาแฟและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคจะให้บริการตนเองในลักษณะบริการตนเองโดยใช้ถาดแต่ละถาด
– โรงอาหาร (Cafétérias) มักพบในบริษัท อาคารสำนักงาน หน่วยงาน หรือในโรงเรียน เป็นต้น บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้หรือสงวนไว้สำหรับบุคคลภายในองค์กรเท่านั้น
– ส่วนร้านอาหารแบบบริการตัวเอง (restaurant libre-service) เป็นร้านอาหารที่ลูกค้าเลือกต้องเดินไปตักรับประทานเอง หรือเดินไปเลือกอาหารด้วยตัวเองและกลับมานั่งกินที่โต๊ะ
ภาพตัวอย่างของ Cafétéria ที่มาของภาพ : http://www.ikonet.com/fr/ledictionnairevisuel/societe/ville/restaurant-libre-service.php#pain%20et%20fromage5
- 56.10C – Restauration de type rapide (ร้านอาหารแบบฟาสฟู้ท)
ร้านอาหารประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อประหยัดเวลาสำหรับลูกค้า โดยให้ลูกค้าสามารถรับประทานอาหารที่สั่งหรือนำออกไปได้อย่างรวดเร็ว อาหารที่ขายในร้านอาหารประเภทนี้ที่มักพบบ่อยจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์หรือแซนด์วิช
การส่งมอบอาหารและเครื่องดื่มที่เคาน์เตอร์ของร้านสำหรับนำไปรับประทาน หรือซื้อกลับบ้าน จะเป็นการใส่อาหารในบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง เช่น
– ร้านอาหารจานด่วน เช่น ร้านเคบับ แฮมเบอเกอร์
– ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารซื้อกลับบ้านเป็นหลัก
– ขายไอศกรีมในรถเข็น
– ร้านอาหารในแอปฯโทรศัพท์มือถือ (ร้านที่ไม่มีหน้าร้าน)
– รวมถึงร้านน้ำชา (salon de thé)
เป็นต้น - 56.21Z – Services des traiteurs (บริการจัดเลี้ยง)
- 56.29A – Restauration collective sous contrat (ร้านอาหารแบบภายใต้สัญญา)
เป็นหนึ่งในประเภทร้านอาหารที่ลูกค้าว่าจ้างให้กิจการเรามีการทำอาหารที่รวมการจัดเตรียมอาหารและให้บริการตามข้อกำหนดที่วางไว้ตามกำหนดสัญญา โดยทั่วไปจะจัดเตรียมในครัวส่วนกลางของสถานที่นั้นๆ ตัวอย่างเช่น โรงอาหาร ร้านอาหารของบริษัท เป็นต้น - 56.29B – Autres services de restauration n.c.a.
- 56.30Z – Débits de boissons
ร้านอาหารประเภทนี้มีการจัดเตรียมและเสิร์ฟเครื่องดื่มเพื่อการบริโภคในสถานที่ เช่น
– บาร์
– คาเฟ่
– ไนท์คลับและเวทีสำหรับเต้นรำที่ให้บริการด้านเครื่องดื่มเป็นหลัก
– ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบเคลื่อนที่ (เช่น ขายเครื่องดื่มบนรถโดยตระเวนไปขายเครื่องดื่มตามที่ต่างๆด้วยพาหนะ)
การตั้งชื่อร้านอาหาร
ชื่อร้านอาหารไทยของเรานั้น ถือเป็นประตูบานแรก ดังนั้นควรให้เวลาและความสำคัญกับการตั้งชื่อ เพราะชื่อของร้านอาหารเรานั้น สามารถเป็นได้มากกว่าชื่อร้านอาหารคือสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องราว ยังสามารถใช้บอกตำแหน่งของร้าน หรือแม้กระทั้งประเภทอาหารที่เราจะขายได้อีกด้วย
หรือจะเป็นการตั้งชื่อโดยอิงกับประเภทสินค้าที่เราขาย เช่น Jardin de Pad Thai ก็ขายแต่เมนูผัดไทยเป็นหลัก (ท่านอาจจะรังสรรและคิดค้นเมนูจากผัดไทใหม่ๆได้ เช่น ผัดไทยเบคอน ผัดไทยชีส ผัดไทยกะเพรา)
หลายคนนิยมที่จะตั้งชื่อร้านเป็นภาษาไทย แต่ควรจะระวังการตั้งชื่อที่คนฝรั่งเศสอ่านออกเสียงลำบาก เช่นคำที่มี « ง » เป็นส่วนประกอบเป็นต้น เนื่องจากเสียงนี้ไม่มีในภาษาฝรั่งเศส
ควรเลี่ยงชื่อร้านอาหารที่คล้ายๆ กับคู่แข่ง เพราะอาจทำให้ลูกค้าสับสน
ข้อแนะนำคือ ยิ่งชื่อที่ฟังแล้วติดหูจำง่ายแค่ไหน ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะจดจำเราได้ง่ายขึ้น
เราจะขอแนะนำเทคนิคการตั้งชื่อร้าอาหารไทยในฝรั่งเศสดังต่อไปนี้
- ลองตั้งชื่อร้านให้โยงกับสถานที่ที่จะจะขายดูสิ
เช่น Thai foods Opéra, Place Bellecour Pad thai <Place Bellecour คือจัตุรัสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองลียง>
หมายความว่าทุก ๆ ครั้งที่เราพิมชื่อร้าน ก็ถือเป็นการบอกไปในตัวว่าร้านเราอยู่ตรงไหน - ตั้งชื่อร้านตามสไตล์ร้านอาหาร
เพราะร้านอาหารเอเชียที่ฝรั่งเศสนั้นมีหลากหลายชาติ ทั้งไทย จีน เวียดนาม ลาว ฯลฯ
ดังนั้นการตั้งชื่อร้านโดยเน้นตามสไตล์ร้านอาหาร ถือเป็นตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่งเพื่อที่ให้ลูกค้าไม่งง เช่น Saveurs thaï, Les Petites chinoises เป็นต้น - ใช้ชื่อเราเนี่ยแหละเป็นชื่อร้าน
ถือเป็นวิธีที่ง่าย และเป็นการตลาดได้ดีวิธีหนึ่ง เพราะสามารถสร้างเรื่องราวต่างๆต่อยอดได้ภายหลังอีกด้วย เช่น DD & Friends เป็นต้น - หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อซ้ำกับเจ้าอื่น
ทุกวันนี้ร้านอาหารเอเชียมีทั่วฝรั่งเศสไปหมด และหลายร้านก็มีชื่อคล้ายกันจนบางทีลูกค้าแยกไม่ออกจำไม่ได้ว่าร้านไหนคือร้านไหน ซึ่งเวลาลูกค้าแนะนำปากต่อปาก ก็กลายเป็นว่าไปผิดร้านกันก็บ่อยไป
ดังนั้นก่อนที่จะตั้งชื่อร้านควรศึกษาหาข้อมูลคู่แข่ง อย่างน้อยก็ร้านใกล้เคียงว่ามีใครใช้ชื่ออะไรแล้วบ้าง เราจะได้ไม่ใช้ซื้อหรือใกล้เคียงจนเกินไป - ใช้ชื่อแปลกๆ แหวกแนวไปเลย
ท่านลองนึกย้อนไปในอดีตดูว่ามีชื่ออะไรได้บ้างที่ท่านยังคจำได้แม่นถึงวันนี้และเพราะอะไรถึงจำชื่อนั้นได้? ลองดูสักตัวอย่าง
ท่านอาจจะจดจำชื่อสุนัขตัวสีดำของเพื่อนบ้านข้างๆที่ชื่อ ‘เฉาก๊วย’ ได้เพราะมันตัวดำเหมือนเฉาก๊วย
ตัวอย่างที่ยกมาสะท้อนอะไร ? คำตอบคือ : ความต่างที่ฉีกออกไป พยางค์น้อย ชื่อตลก เพราะนี่แหละคือเคล็ดลับ
โดยท่านสามารถ :
– เลือกคำมาสักคำไม่เกิน 3 พยางค์ที่เราชอบเพื่อใช้เป็นชื่อร้าน (ยิ่งพยางค์น้อย ยิ่งจำได้เร็ว จำได้แม่น คำง่าย ๆ แต่ลืมยาก)
– ชื่อที่อาจจะไม่เกี่ยวกับอาหารไทยเลยก็ได้ เช่น BlackSheep
– อาจจะเป็นชื่อฮา ๆ ตลก ๆ ตามอินเทอร์เน็ตที่เราเจอมา
– หรือแม้แต่การเล่นคำ เล่นเสียง เล่นมุก ก็สามารถใช้เป็นชื่อร้านได้เหมือนกัน และอาจจะทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายกว่าและสร้างความน่าค้นหาได้
เช่น Chez riz (ที่เป็นการเล่นคำกับคำว่า chérie ที่แปลว่าที่รัก) หรือ Quai Bab (quai แปลว่าท่าเรือ ออกเสียงว่า เก ไปผองเสียงกับคำว่าเกบับ(kébab)) เป็นต้
วิธีสำรวจร้านคู่แข่งทางธุรกิจเราในละแวกใกล้เคียง
การจะเปิดร้านอาหารสักร้านในฝรั่งเศส สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ข้อมูล’ ท่านสามารถสำรวจร้านอาหารในระแวกที่ท่านอาศัยอยู่ได้คร่าว ๆ ว่า มีกี่ร้าน มีร้านอะไรบ้าง ชื่อร้าน ขายอาหารประเภทอะไร เป็นอาหารจานด่วน, พิซซ่า, อาหารตุรกี, อาหารภัตาคารหรู หรือแม้แต่มีร้านอาหารเอเชียแถวนั้นหรือไม่ หรือหากละแวกที่ท่านอยู่มีร้านอาหารเต็มไปหมด แต่ไม่มีร้านอาหารไทยเลยสักร้าน นี่ก็นับเป็นโอกาสบนความต่างได้เช่นกัน
สำหรับวิธีการดู
เลือกเมนู อร่อย ง่าย ขายดี กำไรงาม
ขั้นตอนนี้ก็สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ เลย เพราะเมนูอาหารนอกจากจะต้องคิดให้ตรงกับรูปแบบของร้านค้าแล้ว ยังต้องคิดคำนวนถึงความเป็นไปได้อีกว่า ‘เราสามารถทำได้จริงไหม’ ท่านอาจจะไม่สามารถทำเมนูขายดีตามร้านอื่น ๆ ได้ หรือถ้าเราทำตามร้านอื่น อาจจะเหนื่อยมาก หรืออาจจะทำได้แต่ไม่ได้กำไร เพราะข้อจำกัดอะไรหลาย ๆ อย่างของท่านกับร้านคู่แข่งไม่เหมือนกัน บางเมนูยิ่งขายดียิ่งขาดทุน หรือบางเมนูขายดี แต่สุขภาพท่านเสียซะเอง (เช่น ปวดหลัง) หรือบางเมนูต้องใช้เวลาเตรียมของข้ามวัน จนไม่คุ้มทุนก็มี
ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะลอกเมนูของร้านเขามา แต่ให้ท่านพิจารณาตามว่า :
- ต้องคำนึงถึงประเภทของร้านของเราก่อนว่าร้านของเราเป็นร้านประเภทไหน นั่งกินที่ร้าน หรือซื้อกลับบ้าน
- ลูกค้าของเราเป็นกลุ่มวัยช่วงใด คนวัยทำงาน ครอบครัว เด็กนักเรียน เช่น ถ้าเป็นวัยทำงาน อาหารประเภทอิ่มในกล่องเดียวที่ใส่กล่องบรรจุภัณฑ์อาจจะขายดี เพราะลูกค้าจะซื้อเพื่อไปกินที่ทำงาน หรืออาหารบางเมนูอาจดึงดูดลูกค้าที่เป็นนักเรียนมากกว่าลูกค้าวัยทำงาน เป็นต้น
- คนทำอาหารเป็นใคร เราทำคนเดียว พ่อครัวหรือแม่ครัว เช่น พนักงานทำอาหารน้อยซึ่งบางเมนูอาจขายดีแต่ใช้เวลาทำนาน ไม่เพียงพอต่อการขายในปริมาณเยอะ ๆ เป็นต้น
- วัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น ร้านขายของเอเชียใกล้ๆบ้านไหม หรือรถยนต์สะดวกเดินทางไปซื้อของเข้าร้านในทุกๆสิ้นเดือนหรือเปล่า
เลือกทำเลทอง ขายดี ลูกค้าเพียบ
ท่านลองหาทำเลที่ตั้งร้านที่น่าสนใจ เช่น ใกล้บ้าน หรือในสภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคยดี อย่าลืมดูว่าแถวนั้นมีร้านอาหารไทยหรือร้านอาหารเอเชียที่เปิดไว้เหมือนกับที่เรากำลังจะเปิดหรือไม่
นอกจากเรื่องคู่แข่งแล้วเราควรคำนึงถึงฐานลูกค้า เช่น มีคนเดินผ่านไปมาเยอะหรือไม่ คนเยอะหรือเบาบางในช่วงเวลาไหน การเข้าถึงร้านง่ายไหม (เช่น อยู่ในซอยลึก) ที่จอดรถมีหรือเปล่า หรืออยู่ใกล้รถไฟใต้ดิน สถานนีรถบัสไหม รวมไปถึงการมองเห็นว่ามีอะไรบดบังหน้าร้านหรือเปล่า
เราจึงขอสรุปการเลือกทำเลได้ดังนี้
- ลูกค้าที่เหมาะสมกับเมนูเราเป็นใคร ช่วงวัยใด
เช่น อาหารทอด กินได้ทันที ก็อาจจะเหมาะกับนักเรียน หรือวัยรุ่น ทำเลที่เหมาะสมก็อาจจะหน้าโรงเรียนหรือไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมาก - ยิ่งตั้งราคาสูงยิ่งต้องมีที่จอดรถให้เพียงพอ
หากเราคิดถึงในเรื่องตรงนี้ก่อนจะหาทำเลตั้งร้าน เราก็แค่หาทำเลที่มีที่จอดรถที่เพียงพอ - เห็นหน้าร้านชัดเจน
เราต้องเลือกร้านที่เห็นหน้าร้านชัดเจน ไม่มีอะไรมาบดบัง หรือมีจุดสังเกตให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย สามารถเขียนบอกเป็นรายละเอียดที่ตั้งของร้านค้าได้ง่าย บอกต่อปากต่อปากได้ง่าย เช่น ร้านอาหารไทยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของธนาคารXX หรือ ร้านอาหารไทยที่เมื่อเดินขึ้นมาจากรถไฟใต้ดินจะเจอเลยเพราะอยู่ซ้ายมือของท่าน เป็นต้น - ขนาดของร้านก็สำคัญ
บางครั้งเราคิดว่าร้านเล็ก ๆ ก็น่าจะพอแล้ว แต่อย่าลืมว่ากฏหมายฝรั่งเศส ส่วนครัว ส่วนเตรียมอาหารต้องแยกเป็นสัดส่วน ดังนั้นร้านเล็กไปอาจจะไม่เพียงพอ - สังเกตร้านข้างๆ ส่วนใหญ่ร้านระแวกเดียวกัน กลุ่มลูกค้าก็จะกลุ่มประมาณเดียวกัน
ดังนั้นก็นำมาคิดว่ามันตรงกับกลุ่มลูกค้าที่เราคิดไว้ในใจท่านหรือเปล่า - ร้านใหญ่ ๆ เหมาะสำหรับคนที่มีทุนทรัพย์มากพอเท่านั้น
บางท่านอาจจะคิดว่าร้านใหญ่หรูหราแล้วจะดี แต่อย่างลืมว่าสำหรับที่ฝรั่งเศสนั้น ยิ่งร้านใหญ่ นั้นหมายความว่าค่าเช่ายิ่งแพง (ค่าภาษีอีก) หรือถ้าจะเป็นร้านใหญ่ก็ต้องอยู่ไกลจากตัวเมือง ซึ่งร้านประเภทนี้ลูกค้าจะมารับประทานเฉพาะโอกาสที่สำคัญ ๆ เท่านั้น (เช่น ช่วงคริสมาสต์ ช่วงเทศกาลหยุดยาวประจำปี)
ทำแผนธุรกิจให้ครอบคลุม
กำไรจากการเปิดร้านอาหารเองก็สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ
การแข่งขันด้านร้านอาหารนั้นสูงมากที่ประเทศฝรั่งเศส จะเห็นจากใครก็ตามที่เคยไปขอธนาคารกู้เงินเพื่อเปิดร้านอาหาร ธนาคารจะปล่อยกู้ยากมาก เพราะร้านอาหารถือเป็นกิจการที่มีคนคิดจะทำเยอะ ยื่นกู้กันเยอะ และมีอัตราการไปไม่รอดสูง
สาเหตุหลักของการไปไม่รอดด้านธุรกิจร้านอาหารคือ การไม่ได้วางแผนการเงินที่ดี ทำให้ขาดกระแสเงินสด (เงินสดที่เข้าสู่กิจการของท่าน) เพราะร้านอาหารนั้นมีต้นทุนแฝงเยอะ เช่น ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าภาษีต่าง ๆ ค่าใบอนุญาต หรือแม้กระทั้งค่าจ้างพนักงาน และแหล่งท่องเที่ยวอาจจะขายดีหน้าร้อน
เพิ่มเติม :ต้นทุนแฝง คือ รายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องจ่ายไปแม้เป็นมูลค่าที่ไม่มีนัยยะสำคัญแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ
เรื่องพวกนี้เราสามารถคำนวน ป้องกัน คิดกลยุทธ์ให้เหมาะสมได้ เพียงแค่เราทำแผนการเงินเท่านั้น
การเขียนรายละเอียดทุกอย่างลงในแผนการเงินและแบ่งแยกหมวดหมู่จะทำให้ท่านเห็นภาพรวมธุรกิจชัดมากยิ่งขึ้น ต้นทุนการดำเนินการและโครงสร้างรายได้พนักงานที่สูง (เพราะฐานภาษีของฝรั่งเศสไม่เหมือนของไทย) การขอใบอนุญาตต่างๆ ทั้งหมดนี้เราสามารถเตรียมตัวก่อนได้ หากเรามีการทำแผนการเงินที่ดี
หาเงินทุนที่เหมาะสมกับเรา
ทุนเป็นสิ่งจำเป็นเสมอในการเริ่มธุรกิจต่างๆ สำหรับที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น นอกจากแหล่งเงินทุนอาจจะมาจากเงินของเราเอง เงินของสามี หรือครอบครัว การหาหุ้นส่วน นอกจากนั้นเรายังสามารถทำแผนการเงินแล้วขอยื่นกู้กับทางธนาคารได้ด้วย แต่อาจจะต้องมีคนค้ำประกัน หรือหลักค้ำประกันอื่นๆ
บางท่านอาจจะเข้าใจไปว่า การจะเปิดร้านอาหารได้ต้องมีทุนเยอะ แต่จริงๆแล้วร้านอาหารนั้นมีหลายรูปแบบมาก ซึ่งแต่ละรูปแบบใช้เงินทุนไม่เหมือนกัน หากเรามีทุนน้อย เราก็เลือกรูปแบบร้านที่ใช้เงินทุนน้อยๆ แล้วค่อยขยับขยายที่หลัง
ตามปกติแล้วเงินลงทุนนั้นเราควรแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
- เงินช่วงก่อนเปิดร้าน ไม่ว่าจะเป็น ค่า Bail de commerce ค่า Fond de commerce ค่าอบรมใบอนุญาตต่างๆ ค่าตกแต่งร้าน ค่าทำความสะอาดร้าน (ให้ตรงตามมาตราฐานก่อนเปิดขาย) ค่าเครื่องครัว (เกรด Pro) ค่าวัตถุดิบในตอนต้น ค่าโฆษณาตามช่องทางต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องสำรองจ่ายไปก่อนที่จะเปิดร้าน ซึ่งเงินจำนวนนี้ประมาณการออกมาแล้วยังควรบอกเพิ่มไปอีก 10% เพราะงบมักบานปลายเสมอ
- เงินค่าวัตถุดิบ ค่าเช่า และค่าลูกจ้าง (ถ้ามี) ในช่วง 3 เดือนแรก เพราะช่วง 3 เดือนแรกนั้นคือช่วงแห่งการตั้งตัว เป็นช่วงที่ให้ลูกค้ารู้จักเรา ดังนั้นรายได้จะไม่แน่นอน จะขึ้นๆลงๆ บางทีของที่สต๊อกไว้อาจจะเกินความจำเป็น หรือไม่เพียงพอ พอผ่านช่วง 3 เดือนนนี้ไปได้แล้วร้านมักจะเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น ทำให้สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายได้นิ่งขึ้น เริ่มมองเห็นภาพรวมว่ารายได้จริงๆของร้านจะประมาณเท่าไรกันแน่
- เงินสำรองไว้สามเดือนเป็นอย่างน้อย เป็นเงินที่เราเก็บเอาไว้สำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นกรณีที่มีประท้วงปิดถนนลูกค้าเดินเข้าร้านไม่ได้ (ฝรั่งเศสมีการประท้วงที่เราเห็นบ่อยตามข่าว) ทำให้รายได้ไม่เข้าร้าน ซึ่งแน่นอนว่าไม่รู้ใครรู้อนาคตได้หรอกว่าเหตุการณ์เช่นนี้มันจะเกิดขึ้นตอนไหนและกินระยะเวลานานเท่าไร แต่รายจ่ายของร้านก็ยังต้องเดินต่อไป ดังนั้นควรมีเงินสำรองไว้สักนิดจะดีที่สุด
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การมีทุนเยอะ แต่เป็นการมีทุนที่เหมาะสมและครอบคลุมกับรูปแบบร้านอาหารที่เราเลือก จงเลือกรูปแบบร้านอาหารที่เหมาะกับตัวคุณและเงินทุนของคุณ
หาผู้ช่วย
สำหรับร้านที่มีแค่คนเดียวก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ถ้าหาร้านของท่านที่ได้ต้องมีการจ้างพนักงานคนอื่น ๆ ประกอบ เช่น แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ ฯลฯ ก็ควรจ้างคนที่สามารถช่วยงานท่านได้จริง ๆ เพื่อช่วยในการบริหาร คิดหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ช่วยเรา เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ช่วยที่จำเป็นที่สุดไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์สูง หรือมีการศึกษาใด ๆ แต่คือทัศนคติ และระบบความคิด แถมยังเปลี่ยนได้ยาก ร้านอาหารเป็นงานที่ต้องเจอปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไขตลอด อย่าลืมว่า ‘หลายหัว ดีกว่าหัวเดียว’
การตลาด
การตลาดที่ดีนั้นเกิดมาจากการวางแผนอันแยบยนของท่าน พร้อมกับความคิดเป็นระบบ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าลูกค้าเราเป็นใคร และทำอย่างไรเราถึงจะสื่อสิ่งที่เราต้องการไปถึงลูกค้ากลุ่มนั้นผ่านทาง ‘เครื่องมือการตลาด’ ในมือของเรา
ท่านลองคิดดูว่าร้านของท่านมีเครื่องมือพวกนี้แล้วหรือยัง?
- มีเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
ทุกวันนี้หากเราต้องการหาข้อมูลอะไรสักอย่างเราคงไม่พ้นเข้ามาหาใน Google และถ้าหากลูกค้าค้นเจอร้านของท่าน ร้านก็จะเพิ่มความหน้าเชื่อถือมากขึ้น - Facebook
เพจของร้าน การเชื่อมต่อเพจเฟสบุ๊คเข้าไปกับเว็บของเราเป็นการเพิ่มกิจกรรมของเราบนอินเทอร์เน็ตทำให้ Google ค้นเจอเราได้ง่ายขึ้น หมั่นโพสเฟสทุกวันจะทำให้ลูกค้ามีโอกาสหาเราเจอได้ง่ายขึ้น แต่ต้องระวังไม่ใช่ว่าเราจะโพสอะไรได้มั่ว ๆ นะ เราต้องเลือกโพสสิ่งที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มลูกค้าของเราเท่านั้น - IG
คนฝรั่งเศสนิยมเล่น IG แถมยอดไลท์ขึ้นง่ายกว่าใน Fancebook เสียอีก แค่หมั่นโพส ลูกค้าจะรู้จักเราเพิ่มมาขึ้นแน่นอน - ปักหมุดใน Google Map
เวลาลูกค้าแนะนำกันปากต่อปาก ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าใหม่ๆจะเริ่มหาร้านเราจาก Google map ดังนั้นการปักหมุดถือเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ ใส่ข้อมูลให้ครบ เพิ่มรูปเพิ่มเมนูเข้าไปด้วยก็ได้ อย่าปักมั่ว - มีใบปลิวเมนู
เป็นเรื่องง่ายๆต้นทุนถูก ๆ (1000 ใบ ราคาแค่ 25€) ที่จะทำให้ลูกค้าคิดถึงร้านเรา เพียงแค่วางใบปลิวที่มีเมนูพร้อมเบอร์โทรไปตรงเคาท์เตอร์จ่ายเงิน ให้ลูกค้าสามารถหยิบได้ง่ายๆ เผื่อบางวันลูกค้าไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี อาจจะเหลือบตามาเห็นใบปลิวร้านของท่านที่เคยหยิบติดมือมาเมื่อสามวันก่อนก็ได้นะ - บัตรสมาชิกก็เป็นทางเลือกที่ดี
โดยเฉพาะร้านที่เน้นขายตอนกลางวัน การมีบัตรสมาชิกเป็นการกระตุ้นที่ดีให้ลูกค้ากลับมาทานร้านเราบ่อย ๆ เช่น สิทธิ์ซื้ออาหารถูกลง ของแถมเมื่อซื้อครบ10ครั้ง เป็นต้น - กลุ่มไลน์
สำหรับร้านที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยหรือคนเอเชีย อาจจะเพิ่มการติดต่อผ่าน Group Line ก็ได้นะ เป็นการติดต่อโดยตรงและรวดเร็วที่สุดสำหรับพวกเราแล้ว
https://www.sirene.fr/sirene/public/creation-fichier
https://www.insee.fr/fr/metadonnees/nafr2/classe/56.10?champRecherche=false
https://www.eurostartentreprises.com/fr/notre-blog-business/comment-ouvrir-un-restaurant-en-france
https://entreprendre.service-public.fr/vosdroits/F33794
หากท่านมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม สามารถเข้ามาพูดคุยได้ที่เพจเฟสบุ๊ก DiiThai ได้เลยครับ |
---|
ล่ามดี Dii
Dutsadi BUPPHAKARIPHON
ดุษฎี บุพการีพร
Franco-thaï Consultant | Digital Marketing & Web
Traducteur Interprète assermenté près la Cour d’appel de Montpellier (Thaï – Français)
ล่าม – แปล รับรองศาลฝรั่งเศส ที่ปรึกษาธุรกิจ ระบบออนไลน์
Numéro SIRET : 882 694 540 00015
Email : contact.ddtradction@gmail.com