Blog
ตัวอย่างตราประทับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปลเอกสารราชการไทย-ฝรั่งเศส
- 17 février 2023
- Publié par : Admindhappystory
1. ตัวอย่างตราประทับรับรองสำเนาเอกสาร (légalisation) จากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ
ตราประทับนี้ท่านจะได้รับหลังจากการนำเอกสารที่ต้องการแปล ทั้งต้นฉบับและสำเนา ไปรับรองกับกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ว่าเอกสารฉบับนี้เป็นของจริง
2. ตัวอย่างตราประทับของนักแปล traducteur assermenté
ตราประทับของนักแปล traducteur assermenté คือตราประทับของนักแปลที่ได้รับการรับรองจากศาลของประเทศฝรั่งเศส ที่จะประทับอยู่บนเอกสารที่ต้องการแปลทุกใบ ซึ่งจะประกอบไปด้วย ตราประทับ (สีแดง) เขียนทับด้วยลายเซ็นของนักแปล วันที่ได้รับการประทับตรา และเลขอ้างอิงของเอกสาร ดังในภาพตัวอย่าง 220354 และข้อสังเกตุอีกข้อคือ ตำแหน่ง Traducteur assermenté ทุกคนจะมีป้ายกำกับว่าเป็น Expert judiciaire ซึ่งแปลว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำแหน่งนี้นักแปลส่วนใหญ่ จะต้องผ่านการสอบ คัดกรอง และเก็บชั่วโมงเรียนอย่ามากมาย ไม่ใช่แค่การแปลอย่างเดียว แต่จะมีความรู้เรื่องกระบวนการเกี่ยวกับเอกสารราชการเป็นพิเศษ และมีกฎข้อห้ามเกี่ยวกับจรรยาบรรณเรื่องความลับลูกค้า เป็นกฎหมายที่ผูกมัดกับคำสาบานต่อหน้าศาล ซึ่งลูกค้าสามารถวางใจได้ ว่าเรื่องของคุณไม่รั่วไหลแน่นอน
3. ตัวอย่างตราประทับของนักแปล traducteur assermenté
ตราประทับนี้จะเป็นตราประทับที่แสดงถึงการรับรองด้วยความซื่อสัตย์ของนักแปล traducteur assermenté ซึ่งจะประทับพร้อมกับตราประทับจากข้อที่ 2. จะสังเกตได้ว่า วันที่ได้รับการประทับตรา และเลขอ้างอิงของเอกสารเป็นเลขเดียวกัน แต่ตราประทับนี้จะปรากฏอยู่บนเอกสารที่ต้องการแปลเพียงใบแรกเท่านั้น (ในกรณีที่มีหลายใบ)
4. ตัวอย่างตราประทับรับรองสำเนาจากที่ว่าการอำเภอของประเทศฝรั่งเศส หรือ Mairie
ตราประทับจาก Mairie จะได้รับจากเอกสารราชการฝรั่งเศส ในกรณีที่ต้องการแปลเอกสารจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย แต่เอกสารราชการฝรั่งเศสจะมีอายุ 3 เดือน นับจากวันที่ออกเอกสาร ยกตัวอย่างดังภาพ Le 29 avril 2022 หมายความว่า เอกสารฉบับนี้ออกให้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565
5. ตัวอย่างตราประทับรับรองสำเนา (légalisation) จากกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส
ก่อนจะนำเอกสารราชการฝรั่งเศสไปแปลเป็นภาษาไทย นอกจากตราประทับของ Mairie ที่ติดกับตัวเอกสารมาแล้ว ท่านต้องนำเอกสารดังกล่าวไปประทับตรารับรองจากกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อรับรองว่าเอกสารดังกล่าว ไม่ได้รับการปลอมแปลงมา ตราประทับนี้สามารถพบได้จากกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ตามประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย เพื่อรับรองเอกสารของชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ ณ ประเทศนั้น ๆ
6. ตัวอย่างตราประทับรับรองคำแปลถูกต้องจากสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส
หลังจากขั้นตอนการแปลเรียบร้อยแล้ว ท่านต้องนำเอกสารไปรับรองคำแปลว่าถูกต้องหรือไม่ ที่สถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ก่อนนำไปใช้ในระบบราชการไทย
7. ตัวอย่างตรารับรองสำเนาถูกต้องจากสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส
ตราประทับนี้เป็นการรับรองเอกสารราชการไทยจากสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส ว่าข้อมูลในเอกสารของท่านมีความถูกต้องและเป็นเอกสารจริง สังเกตจากคำว่า Photocopie certifiée conforme
8. ตัวอย่างตรารับรองคำแปลของนักแปล (ภาษาไทย)
ตราประทับนี้เป็นการแปลตราประทับจากข้อที่ 3 ซึ่งเป็นตราประทับที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ของผู้แปล จะประทับก็ต่อเมื่อทางหน่วยงานรัฐจากประเทศไทยต้องการคำแปล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปลายทางว่าจำเป็นต้องใช้ตราประทับนี้หรือไม่
9. ตัวอย่างตราประทับรับรองเอกสารจากทนาย
ในกรณีเอกสารไม่ใช่เอกสารทางราชการ ที่ไม่มีตราประทับรับรองเอกสาร (légalisation) หรือ ตราประทับจาก Mairie สามารถใช้ตราประทับของทนาย หรือ Notaire แทนได้
10. ตัวอย่างตราประทับรับรองการแปล ที่เซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ ฝรั่งเศส (Légalisation signature)
การประทับตรานี้ ผู้แปล จะนำเอกสารต้นฉบับการแปลและเอกสารที่แปลเรียบร้อยแล้ว ไปเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ ฝรั่งเศส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปลายทางว่าจำเป็นต้องใช้ตราประทับนี้หรือไม่
11. ตัวอย่างตราประทับรับรองสำเนาถูกต้อง จากที่ว่าการอำเภอ ในประเทศไทย
ตราประทับนี้ขึ้นอยู่กับท่านว่าต้องการประทับหรือไม่ แต่ตราประทับนี้ไม่สามารถแทนตราประทับรับรองเอกสาร (légalisation) จากกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศได้
นอกจากตราประทับที่ได้กล่าวมาแล้ว จะมีตราประทับอื่น ๆ เช่น กรณีที่ท่านใช้บริการแปลกับนักแปลที่ได้รับการรับรองจากสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย หรือ traducteur agréée ท่านก็จะได้รับตราประทับของนักแปลท่านนั้นแทนตราของนักแปลศาล หรือ traducteur assermenté รวมไปถึงรูปแบบของตราประทับต่าง ๆ อาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานที่ และตราประทับแต่ละชนิด และที่สำคัญคือการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปลายทางว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่ ก่อนดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ท่านสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรงเพื่อความชัดเจน
ล่ามดี Dii
Dutsadi BUPPHAKARIPHON
ดุษฎี บุพการีพร
Franco-thaï Consultant | Digital Marketing & Web
Traducteur Interprète assermenté près la Cour d’appel de Montpellier (Thaï – Français)
ล่าม – แปล รับรองศาลฝรั่งเศส ที่ปรึกษาธุรกิจ ระบบออนไลน์
Numéro SIRET : 882 694 540 00015
Email : contact.ddtradction@gmail.com