Blog
ขั้นตอนการทำบัตร Carte Vitale
- 15 février 2023
- Publié par : Admindhappystory
ผู้ที่สามารถขอ carte vitale ได้ต้องมีวีซ่าประเภท D หรือ Visa Type D (Visa de long séjour หรือคนไทยเรียกติดปากกันว่า วีซ่า1ปี / วีซ่าระยะยาว1ปี) และต้องอาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศสอย่างน้อย3เดือน
Carte Vitale เทียบได้กับบัตรประกันสังคม ประเทศฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบประกันสังคมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (Sécurité sociale) จะจ่ายเงินทดแทนในทุกส่วนของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อยู่ที่ประมาณ 70-100%
เมื่อเรามาถึงฝรั่งเศสก็ควรที่จะมี Carte vitale ได้แล้ว เพราะเมื่อคุณเจ็บป่วยหรือไม่สบายนั้น ค่ารักษาพยาบาลที่ฝรั่งเศสจะแพงมากหรือถ้าเกิดท้องขึ้นมาจะเป็นเรื่องได้หากไม่มี carte vitale
โดยวิธีขอ carte vitale มีขั้นตอนดังนี้
1.เตรียมเอกสารไปหน่วยงาน CPAM
เมื่อมาถึงฝรั่งเศสด้วยวีซ่าติดตามระยะยาว (Visa de long séjour) อย่างแรกที่ควรทำคือยืนยันวีซ่ากับโอฟี่ (OFII หรือ Office Français de l’Immigration et de l’Intégration) บนอินเทอร์เน็ตก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อยืนยันเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นก็รอจดหมายจากโอฟี่เพื่อจะนัดให้ไปตรวจร่างกายและไปทดสอบภาษา
หลังรับรองวีซ่าเรียบร้อย เราจะได้รับใบคอนเฟิร์ม (Confirmation de la validation de l’enregistrement de votre visa long séjour valant titre de séjour) ให้เราเตรียมเอกสารไปหน่วยงาน CPAM(Caisse Primaire d’Assurance Maladie) ซึ่งจะตั้งอยู่ทั่วประเทศฝรั่งเศส ให้ท่านไป CPAM ที่อยู่ในอำเภอหรือเขตที่ท่านอาศัยอยู่ โดยสามารถดูที่อยู่ของ CPAM ได้ในเว็บนี้ คลิ๊ก
ขั้นตอนแรก ให้กดปุ่มที่มีลูกศรสีแดงชี้
ขั้นตอนที่สอง ให้ท่านกรอกรหัสไปรษณีย์ของเขตที่ท่านอยู่อาศัย
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกรอกรหัสไปรษณีย์เสร็จ CPAM ในบริแวกท่านก็จะขึ้นมา ให้เลือกในบริเวณที่ท่านอยู่อาศัย
ขั้นตอนที่ 4 เมื่อกดเข้าไปแล้ว จะมีบอกข้อมูล CPAM นั้นๆ เช่น ที่ตั้ง เวลาที่ให้บริการ
เอกสารหลัก ๆ ที่ท่านต้องเตรียมมีดังนี้
- แบบฟอร์มการยื่นขอที่มีชื่อว่า (Demander l’ouverture des droits à l’assurance maladie) ให้ท่านปริ้นออกมาและกรอกให้เรียบร้อย
สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ ameli.fr โดยพิมพ์ค้นหาว่า ‘Demande d’ouverture des droits à l’assurance maladie ameli.fr’ และกดเข้าไปที่ลิ้งก์แรก
เมื่อโหลดมา หน้าตาเอกสารจะเป็นแบบนี้ - สำเนาพาสปอร์ต 2 ฉบับ และสำเนาหน้าวีซ่าระยะยาว1ปี (นำพาสปอร์ตตัวจริงไปด้วยเผื่อเจ้าหน้าที่ขอดู)
- ใบรับรองวีซ่า (Confirmation de validation de votre VLS-TS (ย่อมาจาก visa de long séjour valant titre de séjour))
หน้าตาจะประมาณนี้ -
สูติบัตรภาษาไทยพร้อมคำแปลโดยนักแปลศาลฝรั่งเศส (Traducteur assermenté)
- ในบางเขต ถึงแม้จะแปลจากนักแปลดังกล่าวก็ต้องการให้รับรองคำแปลจากสถานทูตไทย ณ กรุงปารีสเสียก่อน บางเขตก็ไม่ต้อง
- CPAM อาจจะต้องการสูติบัตรของเราตัวจริง ซึ่งเราให้ไม่ได้ เพราะสูติบัตรไทยเราจะออกแค่ครั้งเดียวและใช้ตลอดชีวิต ให้เราไปขอใบประเพณี (Certificat de coutume) กับสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส (สำหรับท่านที่เคยขอใบนี้ไว้เมื่อครั้งแต่งงานแล้ว ให้ถ่ายเอกสารเก็บไว้ เพื่อที่จะใช้ในกรณีข้างหน้าดังเช่นในกรณีขอ carte vitaleนี้)
- หากท่านหางานได้แล้ว ให้ยื่นสัญญาการจ้างงาน (Contrat de travail) หรือ สลิปเงินเดือนล่าสุดด้วยไปด้วย
- ใบเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี) พร้อมแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการแปลที่ฝรั่งเศสโดยนักแปลที่ได้รับการรับรอง (Traducteur assermenté) และมีอายุไม่เกิน 3 เดือน
- บางเขตอาจจะขอใบเปลี่ยนนามสกุลด้วย (ถ้ามี) แนะนำให้ท่านสอบถามกับ CPAM ในเขตของท่านก่อนหากต้องใช้ใบดังกล่าว ให้ดำเนินการแปลเช่นเดียวกับใบเปลี่ยนชื่อ
- หลักฐานการอยู่อาศัยในประเทศฝรั่งเศส เช่น ใบรับรองที่พัก, สัญญาเช่า หรือ ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ที่ระบุชื่อท่าน ในส่วนของค่าไฟ ท่านอาจให้แฟนติดต่อการไฟฟ้าแห่งประเทศฝรั่งเศส (EDF) ให้เพิ่มชื่อของท่านลงไปด้วย จากนั้น ทางการจะส่งเอกสารมาทางอีเมล ท่านสามารถพิมพ์เอกสารออกมาใช้ได้เลย
-
Attestation d’hébergement สามารถหาโหลดในอินเทอร์เน็ต เป็นจดหมายที่แฟนของท่านเป็นคนเขียนยืนยันพร้อมลายเซ็นว่าท่านทั้งสองอยู่ด้วยกันจริง ๆ แนะนำให้เขียนด้วยมือ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางของแฟนไปด้วย
-
บัญชีธนาคารฝรั่งเศสของท่าน (Relevé d’identité bancaire หรือ RIB) ซึ่งต้องมี IBAN number หรือ International Bank Account ด้วย สามารถขอได้จากธนาคาร ซึ่งปัญหาของคนไทยที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ ๆ คือท่านจะยังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้
หากท่านยังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได ให้ท่านใช้บัญชีของคู่สมรสท่านไปก่อน และหลังจากมีบัญชีธนาคารส่วนตัวแล้วสามารถไปแก้ไขในเว็บไซต์ให้เป็นบัญชีของท่านเองได้
หมายเหตุเพิ่มเติม : CPAM บางที่อาจจะเรียกขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบจดทะเบียนสมรส เป็นต้น
การไปยื่นเอกสารกับ CPAM
หลังจากที่ท่านกรอกแบบฟอร์มและเตรียมเอกสารเสร็จเรียบร้อย ให้ท่านเดินทางไปยื่นที่ CPAM ในเขตของท่าน หรือจะหย่อนในตู้หน้า CPAM ก็ได้เช่นกัน (ตู้สีเหลือง) แต่แนะนำว่าให้ไปติดต่อสอบถามยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่ที่ CPAM ด้วยตัวเองและให้ถามชื่อเจ้าหน้าที่ที่เราคุยด้วยและวันที่เราไปยื่นเอกสารไว้ เพราะเจ้าหน้าที่มักจะให้เรานำเอกสารไปยื่นใส่ตู้หน้า CPAM (ส่วนใหญ่เอกสารมักจะหาย) เพื่อที่เวลาเอกสารเราหายเราจะได้อ้างอิงเจ้าหน้าที่ได้ถูกคนว่า คนนี้แหละเป็นคนที่บอกให้เราเอาไปยื่นใส่ตู้ เมื่อยื่นเอกสารเสร็จ จากนั้น ให้ท่านรอเพื่อดำเนินขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป ดังนี้
- ประมาณ 3 – 4 อาทิตย์ (บางท่านอาจต้องรอนานกว่านี้) CPAM จะส่งเลขประกันสังคมชั่วคราว(numéro temporaire) ทางอีเมลมาให้ท่านใช้ก่อน เวลาที่ท่านจะใช้บริการสาธารณสุข ให้ท่านแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ายังไม่มี Carte vitale มีแต่เลขประกันสังคม เจ้าหน้าที่ก็จะมอบใบ Feuille de soins (ใบสีน้ำตาล) ให้ท่านกรอก (ท่านจะต้องออกเงินค่ารักษาเองก่อน) และให้เรานำใบนี้ไปส่งให้ CPAM เอง และขอเบิกคืนได้ในภายหลัง เลขประกันสังคมในขั้นตอนนี้ยังไม่สามารถใช้สมัครบัญชีใน Améli.fr
- หลังจากนั้นประมาณ 2 – 6 เดือน CPAM จะส่งเลขประกันสังคมถาวร (Numéro permanent) ทางจดหมายมาให้ท่านที่บ้าน โดยจะให้ท่านไปถ่ายรูปเพื่อติดบัตร และส่งรูปกลับไปให้ CPAM (รูปถ่าย 4.5 x 3.5 ซม.พื้นหลังขาว)
ท่านสามารถใช้เลขนี้และเปิดบัญชีใน Améli.fr เพื่อขอทำ Carte vitale ได้เลย - หลังจากส่งรูปกลับไปให้ CPAM ให้ท่านรอไปสักพัก CPAM จะส่ง Carte vitale มาให้ท่าน เป็นอันเสร็จสิ้น
**อย่างที่เรามักจะเน้นย้ำในเกือบทุกหัวข้อคือ แต่ละเขตแต่ละอำเภออาจจะเรียกขอเอกสารที่ต่างกันไป และเพื่อความแน่ใจให้ท่าน Walk-in หรือเดินเข้าไปถามกับ CPAM ในเขตที่ท่านอยู่เพื่อให้แน่ใจว่า ต้องการเอกสารอะไรบ้าง เอกสารนี้ต้องรับร้องกับสถานทูตไหม ฯลฯ**
ล่ามดี Dii
Dutsadi BUPPHAKARIPHON
ดุษฎี บุพการีพร
Franco-thaï Consultant | Digital Marketing & Web
Traducteur Interprète assermenté près la Cour d’appel de Montpellier (Thaï – Français)
ล่าม – แปล รับรองศาลฝรั่งเศส ที่ปรึกษาธุรกิจ ระบบออนไลน์
Numéro SIRET : 882 694 540 00015
Email : contact.ddtradction@gmail.com